บทความจาก ไทยรัฐ ออนไลน์ 27 มี.ค. 2564
เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 ระบาดตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา ทำให้วิธีกู้ซื้อบ้านหลังแรกของแต่ละธนาคารมีการผ่อนปรนเงื่อนไขและคุณสมบัติของผู้กู้มากขึ้น รวมถึงการให้วงเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้กู้เข้าถึงสินเชื่อได้ง่าย แต่เอกสารขอสินเชื่อบ้านที่สำคัญ ก็ยังคงต้องใช้เหมือนเดิม มาดูกันว่าถ้าจะต้อง “กู้บ้านหลังแรกในปี 2564” ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง
คำถามสำคัญของการกู้ซื้อบ้านหลังแรก
- เงินเดือนเท่าไรถึงจะกู้ซื้อบ้านหลังแรกได้
- ทำงานนานเท่าไรถึงจะกู้ซื้อบ้านได้
- อายุเท่าไรถึงเหมาะจะกู้ซื้อบ้าน
คำตอบภาพรวมของคุณสมบัติผู้กู้นี้ คือ เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีขึ้นไป ทำงานประจำอย่างน้อย 6 เดือน และผ่านการทดลองงานแล้ว ควรมีรายได้อย่างน้อย 10,000 – 15,000 บาท ต่อเดือน ไม่ควรมีภาระหนี้สินที่ต้องจ่ายต่อเดือนเกิน 60% ของรายได้ หากกังวลว่าจะกู้ไม่ผ่าน ควรเตรียมหาผู้กู้ร่วมแต่เนิ่นๆ
บ้านหลังแรกกู้ได้เท่าไร? อยากรู้ต้องคำนวณเป็น
สูตรการคำนวณความสามารถในการกู้ซื้อบ้านหลังแรกนั้นง่ายมาก จากหลักการของธนาคารทั่วไปที่ปล่อยกู้เริ่มต้นที่ 40% ของเงินรายได้ ดังนั้นจึงคำนวณด้วยการนำเงินเดือนมาคูณด้วย 40% ถ้าอยากทราบว่า กู้บ้านหลังแรกได้เท่าไร ดูตัวอย่างการคำนวณที่คิดจาก เงินเดือน 30,000 บาท ดังนี้
ระยะเวลาผ่อนชำระ / วงเงินกู้บ้านหลังแรกสูงสุด
- 15 ปี / 2,160,000 บาท
- 20 ปี / 2,880,000 บาท
- 25 ปี / 3,600,000 บาท
- 30 ปี / 4,320,000 บาท
5 เอกสารสำหรับกู้บ้านหลังแรกที่สำคัญ
ธนาคารส่วนใหญ่ต้องการเอกสารสำคัญ 5 หมวดหมู่นี้ สำหรับยื่นกู้บ้าน ได้แก่
1. เอกสารส่วนตัว
ธนาคารต้องการทราบข้อมูลเบื้องต้นของว่าที่ลูกหนี้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน มีประวัติพื้นฐานเป็นอย่างไร เพื่อยืนยันว่าลูกหนี้มีตัวตนจริง ได้แก่
– บัตรประจำตัวประชาชน หรือ บัตรที่ทางราชการออกให้
– ใบเปลี่ยนชื่อ สกุล ถ้ามี
– หากสมรสแล้วจะขอดูเอกสารสำเนาทะเบียนสมรส พร้อมสำเนาบัตรประชาชนของคู่สมรส
กรณีสมรสแล้ว ก็ต้องมีหนังสือยินยอมถามความสมัครใจจากคู่สมรสแนบอยู่ในสัญญาด้วย
2. เอกสารทางการเงิน
ธนาคารจะออกสินเชื่อกู้บ้านหลังแรกให้แก่ผู้ที่มีรายได้แน่นอนเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพนักงานประจำ หรือเจ้าของกิจการ ก็จะกำหนดรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน เอกสารการขอสินเชื่อกู้บ้านที่ใช้แสดงสถานภาพทางการเงิน ได้แก่
– กรณีเป็นพนักงานประจำ ใช้หนังสือรับรองเงินเดือน, สลิปเงินเดือนย้อนหลัง 3 เดือน, สำเนาเดินบัญชีย้อนหลัง 6 เดือน
– กรณีเจ้าของกิจการ หรือผู้ประกอบอาชีพอิสระ ใช้เอกสารสำเนาเดินบัญชีย้อนหลัง 12 เดือน และหลักฐานการเงินอื่นๆ ฉบับจริงเท่านั้น หากจดทะเบียนต้องใช้สำเนาทะเบียนการค้า (ทะเบียนบริษัท หรือ ทะเบียนห้างหุ้นส่วน), หลักฐานการเสียภาษีเงินได้, รูปถ่ายกิจการ กรณีเป็นวิชาชีพเฉพาะ ใช้สำเนาใบประกอบวิชาชีพด้วย
นอกจากเอกสารแสดงสถานะทางการเงินในที่กล่าวมานี้ หากคุณเพิ่งเริ่มต้นกู้บ้าน แต่เคยกู้ซื้อทรัพย์สินอื่นๆ แต่ปิดปัญชีหมดแล้ว หรือเอกสารแสดงความเป็นเจ้าของทรัพย์สินอื่นๆ ก็สามารถยื่นเพิ่มเติมได้เพื่อเป็นหลักประกันว่ามีรายได้เพียงพอที่จะใช้หนี้ ส่วนใหญ่หากกู้ผ่านตัวแทน หรือโครงการบ้านเขาจะแนะนำให้แนบไปเพิ่มเติม
3. หนังสือให้ยินยอมตรวจสถานะประวัติค้างชำระหนี้
4. เอกสารหลักประกัน
หนังสือสัญญาจะซื้อจะขาย เอกสารการวางมัดจำ เป็นสิ่งที่ธนาคารจะใช้พิจารณาเบื้องต้น เพื่อจะเดินทางไปตรวจสอบประเมินมูลค่าสินทรัพย์ เมื่อกู้ผ่านธนาคารจะนำโฉนดเข้าชื่อเป็นของธนาคารก่อน แล้วหากเราผ่อนชำระกับธนาคารหมด ก็จะทำเรื่องเปลี่ยนชื่อมาเป็นของเราภายหลัง
5. เอกสารของผู้กู้ร่วม (ถ้ามี)
การเป็นผู้กู้ร่วม ไม่เหมือนการเป็นผู้ค้ำประกันของสินเชื่ออื่นๆ การกู้ร่วมคือผู้กู้ร่วมต้องยื่นเอกสารแสดงตัวตนและรายได้ รวมถึงเอกสารยินยอมให้ตรวจประวัติค้างชำระหนี้กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร) ด้วย ส่วนมากผู้กู้ร่วมจะเป็นญาติพี่น้อง คู่สมรส บิดามารดา
อย่าลืมค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อซื้อบ้าน
เมื่อกู้ซื้อบ้านแล้ว เท่ากับว่าคุณก็จะมีภาระทางการเงินที่ต้องดูแลมากขึ้น จึงต้องนำรายจ่ายส่วนนี้มาประเมินกับยอดกู้ซื้อบ้านด้วย เช่น
- ค่าใช้จ่ายวันโอน ได้แก่ ค่าจดจำนอง, อากรแสตมป์, ค่าประเมินพื้นที่ เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายเมื่อเริ่มเข้าอยู่ ได้แก่ ค่าจดมิเตอร์น้ำประปาและไฟฟ้า, ค่าเฟอร์นิเจอร์, ค่าต่อเติมเพื่ออยู่อาศัย เป็นต้น
- ค่าบำรุงรักษารายปี เช่น ค่าส่วนกลาง, ประกันอัคคีภัย, ค่าปรับปรุงบ้าน, ประกันชีวิต เป็นต้น
ไทยรัฐออนไลน์มีคำแนะนำเพิ่มเติมแก่ผู้ที่ต้องการกู้บ้านหลังแรก คือ อายุที่เหมาะสมกับการกู้อยู่ที่ 20 – 40 ปี เพราะธนาคารส่วนใหญ่ให้กู้กับบุคคลที่มีอายุ 20 – 70 ปี เมื่อรวมอายุกับระยะเวลาชำระหนี้ไม่เกิน 65 – 70 ปี เพราะฉะนั้น ในยามที่ยังมีความสามารถ คนที่เริ่มต้นเข้าสู่วัยทำงานก็ควรคิดเรื่องกู้บ้านไว้ เผื่ออนาคตจะได้กู้พร้อมกับคู่ชีวิต หรือยื่นกู้คนเดียวเพื่อเก็บเป็นทรัพย์สินยามเกษียณ
Cr: www.thairath.co.th/lifestyle/life/2058107